วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แก่นตะวัน





แก่นตะวัน ช่วยลดความอ้วน และสรรพคุณดีๆ
หลายคนอาจจะเคยได้ยินสมุนไพรที่ชื่อว่า แก่นตะวัน มาบ้าง แต่บางคนก็อาจจะยังไม่รู้จัก แก่นตะวัน ถือเป็นเทรนด์ใหม่ของคนรักสุขภาพเลยทีเดียว เพราะมีสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งช่วยลดความอ้วนที่เหมาะกับสาวๆ และยังช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดคอเรสเตอรอล ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และยังมีสรรพคุณดีๆอีกเพียบ health.mthai ของเราเลยไม่พลาดที่จะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับสรรพคุณดีๆของ แก่นตะวัน กันค่ะ ไปดูกันเลย…
แก่นตะวัน หรือ Jerusalem Artichoke มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus tuberous มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับทานตะวัน เมื่อโตเต็มที่มีความสูงประมาณ 1.5-2 เมตร สามารถปลูกและปรับตัวได้ดีในสภาพเพาะปลูกของประเทศไทย เมื่อปลูกได้ประมาณ 2 เดือน จะออกดอกสีเหลืองคล้ายดอกบัวตอง และเมื่ออายุประมาณ 120 วัน ดอกโรย ต้นเริ่มแห้งก็สามารถขุดเก็บหัวใต้ดินนำมาใช้ประโยชน์ รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำพันธุ์แก่นตะวันจากต่างประเทศมาทดลองปลูกและศึกษาวิจัย และได้มีการตั้งชื่อภาษาไทยขึ้นมา เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว แต่สามารถปลูกในแถบร้อนได้ดี มีความสามารถปรับตัวในสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันมาก มีความแข็งแกร่ง ทนทาน จึงให้ชื่อนำหน้าพืชนี้ว่า”แก่น” และเนื่องจากเป็นพืชที่ใกล้ชิดกับทานตะวัน จึงตั้งชื่อพืชชนิดใหม่นี้ว่า “แก่นตะวัน”
1. ลดความอ้วน
อินนูลิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหัวแก่นตะวัน เป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ (Soluble Fiber) ซึ่งร่างกายของเราไม่มีเอนไซม์ที่จะย่อยได้
ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ของอินนูลิน เมื่ออยู่ในกระเพาะอาหาร จะมีลักษณะเป็นเจล ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น ( delay gastric emptying time) จึงรู้สึกอิ่ม ทานอาหารได้น้อยลง
อินนูลินซึ่งเป็นใยอาหารจะดูดซับน้ำตาลและไขมันในอาหารที่เราทานเข้าไป ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลและไขมันในระบบทางเดินอาหารได้น้อยลง ร่างกายจึงได้รับพลังงานน้อยลง
2. ลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน
อินนูลิน จะดูดซับน้ำและน้ำตาล จนมีลักษณะเป็นเจล ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้ช้าลงและน้อยลง
ร่างกายของเรา ไม่มีเอนไซม์ที่จะย่อยอินนูลิน ดังนั้นเมื่อเราทานหัวแก่นตะวัน เข้าไป จึงไม่ไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด บวกกับเมื่อทานแก่นตะวันจะรู้สึกอิ่มจากคุณสมบัติการเป็นใยอาหารของอินนูลิน ทำให้ทานอาหารอย่างอื่นได้น้อยลง ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลน้อยลง
3. ลดคอเลสเตอรอลในเลือด
อินนูลินดูดซับไขมันในอาหารที่เราทานเข้าไป ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้น้อยลง
น้ำดีซึ่งผลิตจากตับ มีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ มีบทบาทในกระบวนการย่อยไขมันในลำไส้เล็ก ซึ่งปกติจะถูกร่างกายดูดซึมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก แต่เมื่อมันถูกดูดซึมไปโดยใยอาหารละลายน้ำ (อินนูลิน) มันก็จะกลายเป็นของเสียถูกขับออกจากร่างกาย ทำให้ตับต้องผลิตน้ำดีใหม่ โดยการดึงคอเลสเตอรอลในเลือดมาผลิตเป็นน้ำดี ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลง
กรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acid) ช่วยยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอล โดยตับ
กรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acid) เช่น โปรไพโอนิก แอซิด (Propionic acid) เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการหมัก (Fermentation) ซึ่งเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ โดยจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) ย่อยสลายใยอาหารที่ละลายน้ำได้ (อินนูลินจากหัว
แก่นตะวัน)
4. ลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด
มีการศึกษาผลของ Fructooligosaccharide (FOS) ในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงโดยให้บริโภค FOS เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ พบว่า ความดันโลหิตลดลง โดยเฉลี่ย 6 mmHg และยังพบว่าความดันโลหิตแปรผกผันกับจำนวนของBifidobacteria ในลำไส้ (Bifidobacteria มากขึ้น ความดันโลหิตลดลง) ซึ่งจากหลายๆการศึกษาพบว่า อินนูลินและ FOS ทำให้ Bifidobacteria มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ใน100กรัมของหัวแก่นตะวันมีโปแตสเซี่ยมอยู่ถึง429มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ9 ของความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน โปแตสเซี่ยมเป็นมิตรกับหัวใจโดยการยับยั้งการทำงานของเกลือโซเดียม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
โรคหัวใจที่พบบ่อย เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับคอเลสเตอรอล และโฮโมซิสเตอีน(homocysteine) ในเลือด สำหรับคอเลสเตอรอลเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว และเราก็ทราบว่าแก่นตะวันช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ดังนั้นจึงลดความเสี่ยงภาวะหัวใจขาดเลือด แต่สำหรับโฮโมซิสเตอีน(homocysteine) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคอเลสเตอรอล ยังเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก ดูรายละเอียด เกี่ยวกับโฮโมซิสเตอีนได้ ที่นี่ มีรายงานการศึกษาซึ่งระบุว่าแก่นตะวันทำให้ระดับโฮโมซิสเตอีนในเลือดลดลง ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดน้อยลง
5. ลดอาการท้องผูก
ด้วยคุณสมบัติของใยอาหาร ซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระ ทำให้อุจจาระชุ่มน้ำ นอกจากนี้ กรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acid) ซึ่งผลิตโดยไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) จะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
6. ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
การขับถ่ายที่ดีขึ้น ช่วยลดการสะสมของเสีย หรือสารพิษก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่
อินนูลิน และ FOS จากแก่นตะวันเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น Lactobacillus , Bifidobacteria ทำให้จุลินทรีย์ดังกล่าว มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและทำให้ภายในลำไส้ใหญ่มีสภาวะความเป็นกรด ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ก่อโรค เช่น Clostridium , E.coli มีจำนวนน้อยลง (จุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้ไม่ชอบภาวะเป็นกรด) จุลินทรีย์ก่อโรคเหล่านี้ผลิตสารพิษ (Toxic metabolites) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น Nitrosoamines , Indole ดังนั้น เมื่อจุลินทรีย์ก่อโรคน้อยลง สารก่อมะเร็งดังกล่าวก็ลดน้อยลงด้วย
7. เพิ่มการดูดซึมแคลเซียม
สภาวะความเป็นกรดในลำไส้ใหญ่ จากการได้รับอินนูลินและFOS ทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายเพิ่มมากขึ้น ลดความเสี่ยงโรคกระดูก
8. เพิ่มการผลิตวิตามินบางชนิด
Bifidobacteria สามารถผลิตวิตามิน B1 , B2 , B6 , B12 , nicotinic acid และ folic acid อินนูลินและ FOS จากแก่นตะวันทำให้จำนวน Bifidobacteria มากขึ้น ร่างกายจะได้รับวิตามินเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามิน B6 , B12 และnfolic acid มีความสำคัญในการทำให้ระดับโฮโมซิสเตอีน(homocysteine)ลดลง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะหัวใจขาดเลือด
9. หัวแก่นตะวัน ใช้เสริมในอาหารสัตว์
มีผลต่อการเจริญเติบโต ลดจุลินทรีย์ที่เป็นโทษในระบบทางเดินอาหาร สร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ลดการใช้สารเคมีปฏิชีวนะและมูลสัตว์มีกลิ่นเหม็นน้อยลง
ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานแก่นตะวัน
ยังไม่มีการกำหนดอย่างแน่ชัด คงเป็นเรื่องของปริมาณสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์ที่ต้องการ และขึ้นกับความชอบในการรับประทานของแต่ละบุคคล เนื่องจากการทานสดไม่ว่าจะปอกเปลือกหรือไม่ปอก แก่นตะวันก็จะมีเนื้อที่ค่อนข้างแข็ง เหมือนทานแห้วผสมมันแกว บางคนชอบแบบหวานกรอบ แต่สำหรับบางคนที่มีปัญหาเรื่องขบเคี้ยวอาจทำให้ทานลำบาก แต่ก็สามารถนำไปหั่นหรือปั่นได้ จากข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า แก่นตะวันสด 100 กรัม หรือ 1 ขีด (ประมาณ3-5 หัว) ก็จะทำให้ได้อินนูลินสูง (ค่าเฉลี่ย 16.4 กรัม) ซึ่งหากนำมารวมกับใยอาหาร (4กรัม) แล้วจะทำให้ปริมาณใยอาหารทั้งหมดที่ร่างกายได้รับคือ 20.4 กรัม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 82 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยที่อายุ 6 ปีขึ้นไป (สำหรับใยอาหารคือ 25 กรัม) ซึ่งจัดได้ว่าแก่นตะวันเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยใยอาหาร ที่ไม่มีไขมัน และพลังงานต่ำ (ร้อยละ 4 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน)
หากผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก แนะนำให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาทีจะช่วยให้อิ่มท้อง จะทำให้อยากอาหารน้อยลง แต่สำหรับคนทั่วไปสามารถเลือกรับประทานได้ตามความชอบ ไม่ว่าจะทานก่อนอาหาร ระหว่างมื้อ หรือหลังอาหาร หรือเป็นของทานเล่นก็ได้
สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคบางชนิด เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น ควรมีการทดสอบว่ามีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมทั้งความดันว่ามากน้อยขนาดไหน โดยการทดลองรับประทานแต่น้อย (ประมาณ 1 หัว) แล้วสังเกตุอาการว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนถึง 100 กรัม เนื่องจากแก่นตะวันมีสารที่มีบทบาทหลายด้าน บางคนอาจมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก อาจให้เกิดอันตรายได้ ดังคำโบราณกล่าวไว้ว่า "ลางเนื้อชอบลางยา" คือใช้ได้ดีกับอีกคนแต่อาจไม่ดีกับอีกคน เป็นได้ อย่างไรก็ตามหากต้องการทดสอบ แนะนำให้รับประทานไปกับมื้ออาหารปกติ จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายน้อยกว่าการทานก่อนหรือหลังอาหาร
สรุป แก่นตะวันจัดเป็นพืชอาหาร ที่รับประทานแล้วทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีหลายด้าน เช่นช่วยในการขับถ่าย ลดไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลเป็นอาหารที่ดีต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ (พรีไบโอติก) ช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุโดยเฉพาะแคลเซียม จากลำไส้ใหญ่เข้าสู่ร่างการก่อนปล่อยเป็นอุจจาระ สำหรับคนทั่วไปควรรับประทานแก่นตะวันเหมือนผักและผลไม้ คือทานประมาณ 1ขีดต่อวัน (3-5 หัว) จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น