วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โยเกิร์ต... ทำเองก็ได้

ทำเองก็ได้ . . . โยเกิร์ต ( ขอบคุณท่านเจ้าของบทความ)
มาทำโยเกิร์ตกินกันเถอะ โยเกิร์ตเป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก ควรกินทุกวัน วันละ ๑ ถ้วย วิธีทำโยเกิร์ตไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ ใช้แค่หม้อ ๒ ใบ
1.ซื้อนมพาสเจอร์ไรซ์ รสจืด ชนิดใดก็ได้ (ธรรมดา—ฝาสีน้ำเงิน พร่องมันเนย—ฝาสีฟ้า) ยี่ห้อใดก็ได้ เลือกดูที่ยี่ห้อไทย ๆ ชื่อไทย ๆ ที่เขามีฟาร์มเลี้ยงวัว จะได้นมโคแท้ ๆ ใหม่ ๆ สด ๆ ไม่ใช่เอานมผงจากต่างประเทศที่ฝรั่งไม่กินเพราะสกัดเอาเนยเอาครีมออกหมดแล้ว อบแห้งที่เรียกว่า “เวย์” ส่งมาขายประเทศกำลัง (ด้อย) พัฒนา นำมาผสมน้ำ เติมน้ำมันปาล์ม วางขายเป็นนมสด ในราคาเท่านมสดจากเต้าเรามีฟาร์ม ทำให้คนเลี้ยงวัวบ้านเราขายนมไม่ออก เอานมมาเทหน้าโรงงาน

กลับมาเรื่องโยเกิร์ตต่อ ซื้อนมพาสเจอร์ไรซ์มา ๑ ขวด ๘๐๐ ซ๊ซ๊. ราคา ๔๒ – ๔๕ บาท ดูวันหมดอายุด้วย บางร้านหมดอายุแล้วยังขายไม่หมดไม่เอาลงจากชั้นก็มี และซื้อโยเกิร์ตรสธรรมชาติมา ๑ ถ้วย ราคา ๑๒ บาท ยี่ห้ออะไรก็ได้ จะเอาชนิดธรรมดาหรือไขมันต่ำ ไขมัน ๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ตามใจ โยเกิร์ตนี้เราจะเอามาทำเชื้อ จะซื้อเพียงถ้วยเดียว จะไม่ซื้ออีกแล้ว เมื่อซื้อมาถึงบ้านแล้ว ถ้ายังไม่ทำทันทีก็เก็บเข้าตู้เย็นไว้ก่อน เมื่อจะทำก็นำมาตั้งทิ้งไว้ให้คลายความเย็นทั้งนมพาสเจอร์ไรซ์และโยเกิร์ต
2.ต่อไปก็เตรียมภาชนะที่จะต้มนม เป็นหม้อ ๒ ใบ ใหญ่ ๑ ใบ เล็ก ๑ ใบ สามารถนำใบเล็กใส่ซ้อนลงไปในใบใหญ่ได้สบาย ๆ ใบใหญ่ใส่น้ำพอสมควร คือเมื่อเอาหม้อใบเล็กที่ใส่นมใส่ซ้อนลงไปแล้วน้ำจะไม่ล้นเข้าไปในหม้อใบเล็ก นำหม้อใบใหญ่ที่ใส่น้ำแล้วไปตั้งไฟปานกลาง พอน้ำร้อนใกล้เดือดแต่ไม่เดือด สังเกตดูน้ำจะเริ่มมีพรายฟอง ให้เอาหม้อใบเล็กที่ใส่นมพาสเจอร์ไรซ์ที่ทิ้งไว้จนคลายความเย็นแล้วใส่ซ้อนลงไปในหม้อใบใหญ่ คนด้วยทัพพีอย่างเบามือ
หม้อที่มีในครัว เอาหม้อซ้อนกันแบบนี้ หม้อใบเล็กมีด้าม ถอดออกชั่วคราว
อย่าต้มนมด้วยไฟโดยตรงเพราะนมจะไหม้ นมที่จะต้มควรตั้งทิ้งไว้ให้คลายความเย็นเสียก่อน เพราะถ้าต้มนมที่เอาออกมาจากตู้เย็นใหม่ ๆ ต้องใช้พลังงานความร้อนมากกว่า เป็นการสิ้นเปลือง
เมื่อนมร้อนขึ้นต้องใช้ทัพพีคนไปเรื่อย ๆ มิฉะนั้นนมจะจับตัวกันเป็นก้อน จนกระทั่งนมร้อนได้ที่ ประมาณ ๖๐ องศาเซลเซียส ไม่ต้องใช้ปรอทวัด สังเกตดูว่านมเริ่มเป็นไอและจับตัวกันเป็นคราบที่ข้างหม้อ มีกลิ่นหอม ให้ต้มต่อไปอีกสักสองนาทีก็พอ ยกลงจากเตา เอาหม้อนมใบเล็กออกจากหม้อใบใหญ่ ตั้งทิ้งไว้ให้นมเย็นลงโดยปิดฝาแต่แง้มไว้เล็กน้อย
เราต้มนมเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนมากับนม และทิ้งไว้ให้เย็นโดยปิดฝาแง้มไว้เพื่อไ่ม่ให้จุลินทรีย์ในอากาศลงไปปนเปื้อนในนม หากเปิดฝาเชื้อจะลงไปในนมและแพร่ขยายอย่างรวดเร็วมากทำให้นมบูดได้
เมื่อน้ำนมเย็นสนิทแล้ว ให้เอาโยเกิร์ตที่ซื้อมาใส่ลงไปผสมกับนม อย่าใส่เชื้อโยเกิร์ตลงในนมร้อน ๆ เชื้อจะตายหมด คนให้ละลายเ้ข้ากันดี แล้วตักใส่ถ้วยหรือภาชนะที่ล้างสะอาดแล้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องปกติประมาณ ๖ - ๘ ชั่วโมง
3.ตั้งไว้ในตู้กับข้าว
จุลินทรีย์ในโยเกิร์ตที่ใส่ลงไปจะแบ่งตัว จาก ๑ เป็น ๒, ๒ เป็น ๔, ๔ เป็น ๘,...ไปเรื่อย ๆ เหมือนสมาชิกขายตรง และเปลี่ยนนมให้เป็นกรดแลคติค นมจะเริ่มข้นขึ้นเป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติ มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ถ้าชอบเปรี้ยวมากก็ตั้งทิ้งไว้นานกว่านั้น เสร็จแล้วเก็บใส่ตู้เย็นไว้กินได้หลายวัน แต่อย่ากินหมด ให้เหลือไว้ ๑ ถ้วย เพื่อใช้ทำเชื้อในการทำครั้งต่อไป ไม่ต้องซื้อใหม่ ซื้อแต่นมอย่างเดียว
เป็นแล้ว....ย้ายมาใส่ตู้เย็น
การทำโยเกิร์ตที่ผมแนะนำนี้ ซื้อแต่นมกับโยเกิร์ตเท่านั้น ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ใด ๆ ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในครัวเท่านั้น โดยเฉพาะเครื่องทำโยเกิร์ตที่มีขาย ไ่ม่ต้องซื้อ เพราะเป็นแค่เครื่องอุ่นนมให้มีอุณหภูมิที่จุลินทรีย์จะแพร่ขยายได้ดีเท่านั้นซึ่งเหมาะกับเมืองหนาว เมืองเราร้อนไม่ต้องใช้ ถ้าเป็นภาคเหนือในฤดูหนาว ก็ให้เอาตั้งทิ้งไว้ในตู้ทึบ ๆ อาจจะใช้เวลาสัก ๑๒ ชั่วโมงก็จะเป็น ถ้วยแบบในรูปใบละ ๑๐ บาท ไม่มีก็เอาทัปเปอร์แวร์ใส่ เวลาจะกินก็เอาช้อนสะอาดตักแบ่งออกมา
โยเกิร์ตที่ทำเองนี้ จะเป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติแท้ ๆ ไม่เหมือนที่เราซื้อมาตอนทำเชื้อ เพราะเขาใส่น้ำตาลและหางนมผง ถ้าไม่ชินกับรสเปรี้ยว ๆ ก็ให้หาผลไม้สดตามฤดูกาล เช่น กล้วยน้ำว้า สับปะรด ฝรั่ง สตรอเบอรี่ ฯลฯ ตามชอบ มาหั่นเป็นชิ้น ๆ พอคำ ใส่ชาม ราดด้วยโยเกิร์ตทำเอง แค่นี้ก็อร่อยและได้ประโยชน์เต็ม ๆ
แถมท้ายด้วยประวัติโยเกิร์ตสักนิด
ในสมัยโบราณก่อนคริสตศตวรรษ ชนเผ่าทราเซียนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบัลแกเรีย เอาน้ำนมใส่ในถุงที่ทำด้วยหนังแกะ คาดเอวไว้สำหรับกินเวลาออกไปเลี้ยงแกะหรือออกไปทำงานในทุ่ง ความอบอุ่นจากร่างกายและเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในหนังแกะ ทำให้น้ำนมในถุงก็กลายเป็นโยเกิร์ต ชาวบัลแกเรียจึงนิยมกินโยเกิร์ต ทำให้มีอายุยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น