วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

สุขภาพ : ผลวิจัยชี้ "เดิน" ครั้งละ 40 นาที - เต้นแอโรบิก เพิ่มออกซิเจน - บำรุงสมอง

by FOOD&HEALTH on 2010-09-08 - 00:27 pm
ที่มาข้อมูล: ข่าวสดรายวัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 7223 หน้า 28 (วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2553)

ผลวิจัยชี้"เดิน"ครั้งละ40นาที-เต้นแอโรบิก เพิ่มออกซิเจน-บำรุงสมอง

เว็บไซต์วิชาการ ดอต คอม รายงานว่า ข้อมูลการศึกษาล่าสุดของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา พบว่า การออกกำลังกายแค่ในระดับปานกลาง เช่น ก้าวเดินเป็นจังหวะสบายๆ แค่สามครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 40 นาที สามารถช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดอาการสมองเสื่อมยามแก่ตัว และช่วยให้สมองรับรู้ดีขึ้น

ผลการศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารฟรอนเทียร์ส อิน เอจจิ้ง นิวโรไซเอินซ์ เก็บข้อมูลจากอาสาสมัคร วัย 59-80 ปี จำนวน 65 คน ที่เข้าร่วมโครงการเดินหรือยืดเส้นยืดสายเป็นเวลา 1 ปี โดยอาสาสมัครเหล่านี้เป็นกลุ่มบุคคลที่ชอบอยู่กับที่ ไม่ชอบออกกำลังกาย ซึ่งทีมวิจัยกำหนดไว้ว่าต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่ออกกำลังกายน้อยกว่า 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีเมื่อ 6 เดือนที่แล้วก่อนเข้าร่วมโครงการทดลอง นอกจากนั้น ในการทดลองทีมวิจัยยังตรวจวัดกิจกรรมของสมองส่วนนี้ในกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 18-36 ปีควบคู่ด้วย

สำหรับการวิเคราะห์ผลการทดลอง ทีมวิจัยให้ความสำคัญกับสมองหลายๆ ส่วนที่ต้องทำงานประสานกันเป็นเครือข่าย ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงบริเวณเดียว ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าวว่า สมองส่วนเดียวไม่มีทางทำงานได้สำเร็จ เครือข่ายที่เกิดขึ้นอาจทำงานประสานกันมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้ และเมื่อเรามีอายุมากขึ้นการทำงานนี้จะค่อยๆ ลดลง ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงให้ความสำคัญกับความพร้อมของร่างกายต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายประสาท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะลดลงเมื่อเราอายุมากขึ้น

นักประสาทวิทยาพบว่ามีวงจรประสาทหลายวงจรในสมอง คาดว่าวงจรที่สำคัญวงจรหนึ่งคือวงจร "Default mode network" (DMN) เป็นวงจรที่ควบคุมการทำงานของสมองตอนที่เราต้องเผชิญกับโลกภายนอก

การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การทำงานขัดข้องของวงจรนี้บ่งบอกถึงอาการชราภาพหรือการเกิดโรคชนิดอื่น เช่น ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์พบว่าวงจรนี้ไม่ทำงานและสื่อสารกันน้อยลง การสื่อสารกันน้อยลงนี้หมายความว่า สมองแต่ละส่วนไม่ประสานกัน ล่าสุด ทีมวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอายุมากแต่แข็งแรงมีแนวโน้มที่วงจร DMN จะทำงานดีกว่าคนที่นั่งๆ นอนๆ เมื่อ DMN ทำงานดีส่งผลให้การวางแผนและแก้ปัญหาหรือทำงานอื่นๆ ดีขึ้น

จากการทดลองพบว่า เฉพาะอาสาสมัครที่เข้าโครงการเดินเท่านั้นที่การทำงานของ DMN ดีขึ้น ส่วนผู้ที่เข้าโครงการอื่นคือพวกที่ออกกำลังกายยืดเส้นพบว่าไม่ช่วยให้ DMN ดีขึ้น หลังใช้เครื่องสแกนสมองตรวจดูพบว่าการเดินช่วยให้ร่างกายหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น พูดง่ายๆ คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิกชนิดใดก็ได้ช่วยเพิ่มการทำงาน DMN เช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น