วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เรื่องไม่รู้เกี่ยวกับปลา Salmon



เรื่องไม่รู้เกี่ยวกับปลา Salmon

บทความโดย: วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ที่มาบทความ: มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19:00:00 น.)


คนไทยรู้จักปลา Salmon (อ่านว่า แซม-มอน ไม่ใช่ แซล-มอน) มากขึ้นเช่นเดียวกับชาวโลกเพราะบริโภคมากขึ้นเป็นลำดับทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดี มีหลายสิ่งเกี่ยวกับปลาพันธุ์นี้ที่เรารู้จักกันไม่มากนัก

Salmon เป็นชื่อสามัญใช้เรียกปลาหลายสปีชี่ซึ่งอยู่ในตระกูล Salmonidae บางสปีชี่ในตระกูลนี้เรียกว่าปลา Trout สิ่งที่แตกต่างระหว่าง Salmon และ Trout ก็คือ Salmon อพยพเคลื่อนย้ายแหล่งหากินในขณะที่ Trout อยู่ในถิ่นของมัน

Salmon อาศัยอยู่ในชายฝั่งทะเลทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก และส่วนหนึ่งอยู่ในทะเลสาบหลายแห่งของอเมริกาเหนือ ลักษณะพิเศษของ Salmon ก็คือจะเกิดในน้ำจืด อพยพไปยังมหาสมุทร (น้ำเค็ม) และกลับมายังถิ่นเก่าซึ่งเป็นน้ำจืดเพื่อผลิตลูกหลานและก็ตาย อย่างไรก็ดีมี Salmon หลายพันธุ์ที่อยู่อาศัยในน้ำจืดตลอดชีวิต


มนุษย์เชื่อกันมา นานว่า Salmon จะว่ายน้ำกลับมายังจุดที่มันเกิดเพื่อผสมพันธุ์ ไม่ว่าจะจากไปหากินที่ใดก็ตาม งานศึกษาการย้ายถิ่นของปลา Salmon พบว่าความเชื่อนี้เป็นความจริงอย่างน่าอัศจรรย์ Salmon กลับมาที่เก่าอย่างถูกต้องโดยอาศัยความจำเรื่องกลิ่นของถิ่นในตอนที่มันเกิด (นกพิราบก็อัศจรรย์เช่นกันสามารถบินกลับมากรงของมันเองได้ถึงแม้จะนำไปปล่อย ในที่ห่างไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตรก็ตาม)

ปัจจุบันมนุษย์ ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลา Salmon จนมีผลิตผลออกมาสู่ตลาดในปริมาณกว่า 2 ล้านตันต่อปี รวมกันแล้วปีหนึ่งทั้งโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การเลี้ยงปลา Salmon ในฟาร์มในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 8.8 ต่อปี จนปัจจุบันมีผลผลิตเป็นหนึ่งในสามของผลผลิตอาหารจากทะเลของทั้งโลก

การเลี้ยงปลา Salmon ของโลกเริ่มจาก 500 ตัน ในปี 1970 จนเพิ่มเป็น 1.3 ล้านตัน ในปี 2005 และคาดว่าถึงกว่า 2 ล้านตัน ในปัจจุบัน ในปี 1998 ผลผลิตของ Salmon จากฟาร์มแซงหน้าผลผลิต Salmon ที่จับจากทะเลเป็นครั้งแรก

ยักษ์ใหญ่ของวงการเลี้ยงปลา Salmon คือ นอร์เวย์ และชิลี รองมาไกลๆ คือ อังกฤษ และแคนาดา (นอร์เวย์และชิลีรวมกันผลิตกว่าร้อยละ 75 อังกฤษและแคนาดารวมกันมีสัดส่วนร้อยละ 15 และอื่นๆ ร้อยละ 10)

นอร์เวย์ นั้นเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงปลา Salmonในปี ค.ศ.1984 เพื่อสร้างผลผลิตเพิ่มเติมจากปลาธรรมชาติที่จับจากทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ชิลีเพิ่งเริ่มต้นเลี้ยงเมื่อต้นทศวรรษ 1990 และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วคู่กับนอร์เวย์ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาตลอดและ ปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก

ชิลีเป็นประเทศที่ผล ผลิตของปลาเลี้ยง Salmon ขยายตัวรวดเร็วที่สุดโดยไม่มีการจับปลา Salmon จากมหาสมุทรเลยเนื่องจากไม่มีปลาในบริเวณนั้น ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และส่วนหนึ่งไปตลาดอเมริกาใต้และ EU

ม่น่าเชื่อว่าจากการ เป็นประเทศที่ไม่มีปลา Salmon สักตัวในปี 1990 แต่ภายในเวลา 20 ปี ชิลีสามารถกลายเป็นผู้ผลิตปลา Salmon เลี้ยงรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตกว่าปีละ 7 แสนตัน

จุดแข็งของชิลีคือมีฝั่งทะเลที่ ยาวถึง 4,300 กิโลเมตร มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีแรงงานที่ถูก จึงทำให้เป็นประเทศในกลุ่มผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ชิลีมีประชากรเพียง 17 ล้านคน ในพื้นที่ 7.5 แสนตารางกิโลเมตร (ไทยมีพื้นที่ประมาณ 5 แสนตารางกิโลเมตร) ประมาณร้อยละ 53 สืบเชื้อสายโดยตรงจากชาวยุโรป และอีกร้อยละ 44 เป็น Mestizos (หรือลูกผสมคนยุโรป) ซึ่งต่างจากหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น เปรู ที่มีคนพื้นเมืองอินเดียนแดงอยู่เป็นสัดส่วนที่สูงกว่า

การมีนโยบาย เศรษฐกิจที่เปิดกว้างในด้านการค้าการลงทุนมายาวนานกว่า 30 ปี ตลอดจนมีนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม ไม่มีเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้ชิลีได้กลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นที่ กล่าวขวัญในโลก ปัจจุบันชิลีมีรายได้ที่เป็นตัวเงินต่อหัวต่อคนต่อปีสูงสุดในอเมริกาใต้

จาก อัลบั้ม มติชนออนไลน์


การเลี้ยงปลา Salmon การผลิตเหล้าไวน์ (ผู้ค้าออกอันดับ 5 ของโลก และผู้ผลิตอันดับ 8 ของโลก) การผลิตทองแดง การท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จที่ได้มาด้วยการเป็นเศรษฐกิจเปิด และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยทุกรัฐบาล

การบริโภคปลา Salmon ทางอ้อม กล่าวคือนำปลา Salmon ไปผลิตน้ำมันปลา (fish oil) ซึ่งมีกรดไขมัน Omega-3 และวิตามิน D สูงเป็นพิเศษ ทำให้การผลิตปลาเลี้ยงพุ่งสูงขึ้น ถึงแม้ว่าปลาธรรมชาติจะมีกรดไขมันนี้มากกว่าก็ตามที แต่ราคาที่สูงกว่าของปลาธรรมชาติทำให้ปลาเลี้ยงกลายเป็นวัตถุดิบของการผลิต Omega-3

อย่างไรก็ดี มีความกังวลใจอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับ Salmon เลี้ยงที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคปลาในบางครั้งและการใส่สาร astaxanthin และ canthaxanthin เพื่อให้ปลามีเนื้อสีเหลืองสวย (คนไม่นิยมปลา Salmon เนื้อสีขาว) ตลอดจนการที่ปลาเลี้ยงอาจมีสาร Dioxins และ PCB

งานศึกษาในปี 2000 ตีพิมพ์เป็นบทความใน The Journal of The American Medical Association ชี้ว่าการบริโภคปลาเลี้ยง Salmon ซึ่งอุดมด้วย Omega-3 ให้คุณประโยชน์แก่ร่างกายมนุษย์อย่างคุ้มกับความเสี่ยงจากพิษของสารเคมี เหล่านี้

ในทุกสปีชี่ของปลา Salmon ในฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิกจะตายหลังจากวางไข่ใน 2-3 วัน หรือเร็วกว่าหนึ่งอาทิตย์ ส่วนปลาในฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีสัดส่วนเล็กน้อยของปลาที่ไม่ตายหลังจากวางไข่แล้ว และกลับมาวางไข่ได้อีกครั้ง

ถ้าอยากรู้ว่าปลา Salmon ที่จะซื้อนั้นจับมาจากมหาสมุทรจริงตามที่โฆษณาหรือไม่ ให้ดูว่าเป็นปลาที่อยู่ในสปิชี่ของฝั่งมหาสมุทรใด หากเป็นฝั่งแปซิฟิกก็พอเป็นไปได้เพราะกว่าร้อยละ 80 เป็นปลาจากการจับ หากเป็นฝั่งแอตแลนติกละก็ถูกหลอกแน่เพราะกว่าร้อยละ 99 เป็นปลาที่มาจากฟาร์ม

ใครที่จากบ้านมาแล้วไม่เคยกลับไปบ้านเลยเพื่อ เยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงหรือไม่เคยช่วยเหลือบ้านเก่าจากระยะทางไกลเลยก็ต้องคิดแล้ว

เพราะ แม้แต่ปลา Salmon ยังว่ายน้ำอย่างบากบั่นหลังจากลาจากไป 4-5 ปี กลับไปบ้านเก่าเพื่อผสมพันธุ์สืบสานลูกหลานให้ธรรมชาติ แล้วก็ตายจากไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น