วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
‘ถั่วแปบไร้แป้ง’ พลิกแพลงขนมไทยทำเงิน
‘ถั่วแปบไร้แป้ง’ พลิกแพลงขนมไทยทำเงิน
อาชีพทำกิน ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ขนม หรืองานประดิษฐ์ ก็จำเป็นต้องใช้ความคิดดัดแปลงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างจุดขาย สร้างจุดเด่นเพื่อสร้างการจดจำ อย่างการนำขนมไทยโบราณมาประยุกต์พัฒนาปรับให้เข้ากับยุคสมัย เกิดเป็นสูตรขนมไทยที่มีเอกลักษณ์ อย่าง “ถั่วแปบไร้แป้ง” นี่ก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา...
ปูรณ์ภัสสร ประเสริฐบัณพร-ยุทธศาสตร์ อนันตกุล เจ้าของสูตร “ถั่วแปบไร้แป้ง” ที่จะนำเสนอในวันนี้ เล่าว่า ทางบ้านยึดอาชีพทำขนมไทยขายมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ โดยมีหน้าร้านขายขนมไทยหลากหลายประเภท ทั้งขนมทั่วไปและขนมไทยหายาก อาทิ ทองเอก, จ่ามงกุฎ, เสน่ห์จันทร์, เกสรลำเจียก อยู่ที่อ่างทอง ต่อมามีคนรู้จักชักชวนบอกว่าน่าจะนำขนมไทยเหล่านี้มาขายในตลาดกลุ่มคนเมืองบ้าง เพราะเป็นขนมไทยหาทานยาก ตลาดน่าจะไปได้ดีกว่าการขายอยู่ต่างจังหวัด จึงเริ่มทดลองขายในกรุงเทพฯ โดยตระเวนเปิดแผงขายตามตลาดนัดในย่านสำนักงานและออฟฟิศต่าง ๆ สลับหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยขนมไทยที่ทำขายก็จะเปลี่ยนสลับกันไปตามแต่กลุ่มเป้าหมายในจุดขายนั้น ๆ
สำหรับถั่วแปบไร้แป้งนี้ ปูรณ์ภัสสรเล่าว่า เกิดจากความพยายามในการมองหาจุดแตกต่างจากขนมถั่วแปบเจ้าอื่น ๆ ในตลาด เนื่องจากพอนำขนมมาขายในตลาดเมือง คู่แข่งมีมากกว่าการขายในตลาดต่างจังหวัด จึงคิดและมองหาว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ขนมไทยเป็นขนมที่คนทุกกลุ่มสามารถทานได้ ไม่ค่อยมีปัญหาต่อสุขภาพ และสามารถสร้างจุดขายให้แตกต่างจากขนมถั่วแปบเจ้าอื่น ๆ เธอจึงทดลองอยู่นาน โดยนำสูตรการทำขนมถั่วแปบโบราณซึ่งเป็นสูตรประจำบ้านที่ทำขายอยู่ มาพัฒนาจนกลายมาเป็นขนมถั่วแปบสูตรไร้แป้งที่ทำขายอยู่ในปัจจุบันนี้...
“ลูกค้าจะชอบมาก โดยเฉพาะลูกค้าผู้หญิง เพราะไม่หวานมาก อีกทั้งไม่มีแป้งที่ทำให้หลายคนกลัวว่าทานแล้วจะทำให้อ้วน ตอนที่ทำออกมาใหม่ ๆ ลูกค้าจะยังไม่รู้จัก ก็ต้องอาศัยเรียกให้ชิม ซึ่งทุกคนพอทราบว่าเป็นถั่วแปบสูตรไร้แป้งก็ติดใจ จนตอนนี้ถือว่าเป็นขนมตัวเอกของทางร้านเลยก็ว่าได้” ปูรณ์ภัสสรกล่าว
จุดเด่นของขนมถั่วแปบไร้แป้งนี้ อยู่ที่ส่วนผสมวัตถุดิบที่จะไม่มีการใช้แป้งเข้ามาผสมเลย แต่จะเน้นกรรมวิธีการทำที่จะทำให้ขนมเกาะก้อนกันเป็นกลุ่ม และการปั้นก็จะเลือกปั้นแค่ขนาดพอดีคำ ไม่เน้นทำเป็นชิ้นใหญ่ ๆ โดยการทานสามารถเลือกได้ว่าจะทานสด ๆ เลย หรือจะโรยน้ำตาลคลุกงาเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหวานและความหอมก็ได้ ขณะที่การเก็บรักษา หากแช่ตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ 2 วัน แต่จะอร่อยที่สุดคือซื้อแล้วทานเลย เพราะถั่วจะนิ่มและยังหอมอยู่
ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป ส่วนทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย โดยราคาขายนั้นอยู่ที่กล่องละ 30 บาท ซึ่ง 1 กล่องนั้นจะมีขนมถั่วแปบ 7 ลูก สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ “ถั่วแปบไร้แป้ง” หลัก ๆ ก็มีอาทิ เครื่องกวนหรือเครื่องตีแป้งทำขนม, หม้อซึ้งสำหรับนึ่ง, แม่พิมพ์แบบกดสำหรับกดถั่ว, กระทะใบบัว เป็นต้น
ส่วนผสมของขนม ตามสูตรก็ประกอบด้วย ถั่วทองหรือถั่วเขียวผ่าซีกกระเทาะเปลือก 12 กิโลกรัม แบ่งเป็นสำหรับการปั้นตัวขนม 6 กิโลกรัม และอีก 6 กิโลกรัม สำหรับเป็นถั่วคลุก, น้ำตาลทรายขาว 2 กิโลกรัม, เกลือ 6 ช้อนโต๊ะ โดยส่วนผสมตามสูตรนี้จะสามารถทำขนมถั่วแปบได้ประมาณ 800 ลูก
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการนำถั่วเขียวแกะเปลือกมาล้างน้ำทำความสะอาด จากนั้นแบ่งออกสำหรับทำตัวขนมและทำถั่วสำหรับคลุก โดยถั่วเหลืองสำหรับนำมาคลุกให้นำไปแช่น้ำไว้ ขณะที่ถั่วที่จะใช้สำหรับการทำตัวขนมถั่วแปบให้นำเข้าเครื่องกวน เติมน้ำตาลทรายตามอัตราส่วนข้างต้น หรือตามชอบ จากนั้นเปิดเครื่องกวนให้กวนต่อไปประมาณ 2 ชั่วโมง หรือกวนจนถั่วแห้งหมาด ๆ ไม่ต้องกวนจนแห้ง เพราะจะทำให้แตกง่ายขณะปั้น
เมื่อกวนถั่วด้วยเครื่องเสร็จแล้วก็ให้นำถั่วที่กวนได้มาเทใส่กระทะใบบัว ตั้งไฟอ่อน ๆ กวนด้วยมือต่อไปอีกระยะ หรือจนพอที่ถั่วจะร่อนหรือไม่ติดกระทะ จากนั้นนำมาตั้งปล่อยทิ้งไว้ให้ถั่วเย็นตัว หรือจนสามารถที่จะใช้มือจับได้ แล้วทำการปั้นด้วยการใช้แม่พิมพ์กดออกมาเป็นตัวขนมก้อนกลม ๆ จากนั้นก็นำถั่วแปบที่ได้มาคลุกกับถั่วเหลืองส่วนที่แช่น้ำทิ้งไว้และนำขึ้นเตรียมไว้แล้ว โดยคลุกให้ทั่ว เพื่อให้ถั่วติด ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
“ขนมถั่วแปบนี้มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำไม่มาก อีกทั้งขั้นตอนการทำไม่เยอะ เพียงแต่แต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลา และต้องอาศัยการคัดเลือกวัตถุดิบที่ดี ขนมที่ทำออกมาถึงจะมีคุณภาพ” ปูรณ์ภัสสรกล่าว
“ถั่วแปบไร้แป้ง” เจ้านี้ จะตระเวนขายตามตลาดนัดทั่วไป ซึ่งหากใครสนใจต้องการติดต่อสอบถามแหล่งขาย ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7403-7188 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่าง “ช่องทางทำกิน” จากขนมไทยประยุกต์ ที่น่าสนใจไม่น้อย.
..........................................
คู่มือลงทุน...ถั่วแปบไร้แป้ง
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 50% ของราคา
รายได้ ราคา 30 บาท / 7 ลูก
แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร, ตามตลาดนัด
จุดน่าสนใจ สอดรับกับกระแสรักสุขภาพ
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/ภาพ
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)